ท่อมาตรฐานอุตสาหกรรม หรือ ท่อ มอก. สังเกตอย่างไร



สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานในการผลิตท่อคอนกรีตเสริมเหล็กสำหรับงานระบายน้ำ

และได้ปรับปรุงขึ้นใหม่ ตาม มอก.128-2560 ซึ่งมีชั้นคุณภาพ ตั้งแต่ ชั้นที่ 1 ,2 ,3 และ 4 แต่ละชั้นสามารถรับแรงต้านทานและแรงกดสูงสุดแตกต่างกัน ซึ่งท่อชั้นคุณภาพที่ 1 เป็นชั้นที่มีคุณภาพ สูงสุด ส่วนชั้นคุณภาพที่ 4 เป็นชั้นที่คุณภาพต่ำสุด ดังนั้นผู้ใช้ควรเลือกใช้ท่อให้เหมาะสม จึงจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายและยังได้ผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้อีกด้วย

วิธีการสังเกตท่อมาตรฐานอุตสาหกรรมอย่างง่าย ดังนี้

ลักษณะภายนอกทั่วไป ต้องผิวเรียบ ปราศจากรอยร้าว และที่ตัวท่อ จะต้องระบุ ชั้นคุณภาพของท่อ , ขนาด , วันเดือนปีที่ผลิต และชื่อโรงงานหรือ เครื่องหมายการค้าจดทะเบียน

ลักษณะภายใน เมื่อผู้ใช้ทำการสุ่มตัวอย่าง โดยการทุบตัวท่อคอนกรีตจะพบ เหล็กเสริมตามความยาวท่อ ซึ่งจะต้องมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 4 มม. จำนวนไม่น้อยกว่า 6 เส้นสำหรับท่อที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 500 มม. และ จำนวนไม่น้อยกว่า 8 เส้นสำหรับท่อที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 600 มม. ขึ้นไป และกรณีที่เป็นเหล็กเสริม 2 ชั้น แต่ละชั้นจะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 8 เส้น

สังเกตท่อมอก128_2560_01_IMG_3184_w1920x900px

ตัวอย่างเช่น เมื่อทำการทดสอบอย่างง่ายโดยการทุบท่อคอนกรีตที่หน้างาน ท่อขนาด 400 มม. ชั้นคุณภาพที่ 3 จะพบเหล็กเสริมตามยาว ขนาด 4 มม. จำนวน 6 เส้น และเหล็กเสริมตามขวางขนาด 4 มม. จำนวน 13 เส้น ซึ่งแต่ละเส้นจะต้องมีระยะห่างระหว่างวงไม่เกิน 80 มม. หรือถ้าเป็นท่อขนาด 600 มม. ชั้นคุณภาพที่ 3 จะพบเหล็กเสริมตามยาว ขนาด 4 มม. จำนวน 8 เส้น และเหล็กเสริมตามขวางขนาด 4 มม. จำนวน 13 เส้น ซึ่งแต่ละเส้นจะต้องมีระยะห่างระหว่างวงไม่เกิน 80 มม. เป็นต้น

จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นวิธีสังเกตท่อมาตรฐานอุตสาหกรรม ( ท่อมอก.) อย่างง่ายๆ แต่ถ้าจะให้ได้ผลที่สมบูรณ์จะต้องนำท่อไปทดสอบเพื่อหาความต้านทานแรงอัดแตก และแรงกดสูงสุด ซึ่งระบุไว้ในเกณฑ์ตามที่สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม กำหนดอีกครั้งหนึ่ง